ก เอ๋ย ก.ไก่

สุขสันต์วันวาเลนไทน์

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นวัตกรรมทางการเกษตร

นวัตกรรมทางเทคโนโลยี SIMS
SIMS (Sugarcane Information Management System) คือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มิตรผลวิจัยฯ ได้พัฒนาขึ้น โดยบูรณาการเทคโนโลยีสามด้านเข้าด้วยกัน อันได้แก่ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความละเอียดสูง เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยีการบอกตำแหน่งบนพื้นผิวโลก เพื่อเก็บฐานข้อมูลด้านไร่ของเกษตรกร อีกทั้งยังช่วยลดขั้นตอนการสำรวจแปลงของเจ้าหน้าที่โรงงานกับเกษตรกร และสามารถปรับปรุงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เวลานานให้ง่ายรวดเร็ว เป็นปัจจุบัน และมีความถูกต้องแม่นยำสูง
โดยระบบจะรวบรวมข้อมูลสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยรายบุคคลตั้งแต่เรื่องการใช้พันธุ์อ้อย คุณสมบัติดิน การใช้ปุ๋ย การจัดการน้ำ การเก็บเกี่ยว การขนส่ง รวมทั้งประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน ทั้งหมดนี้จะถูกประมวลเป็นฐานข้อมูลชาวไร่อ้อยที่เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ประเมินผลเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มผลผลิตให้ดียิ่งขึ้น เราเรียกวิธีนี้ว่า “Yield Gap Analysis” ด้วยศักยภาพของ SIMS สายงานด้านอ้อยจะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความละเอียดซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รายชื่อของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่จะถูกแบ่งกลุ่มตามขนาดพื้นที่ สภาพพื้นที่ วิธีการชลประทาน ช่วงเวลาการปลูก ฯลฯ ข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปประมวลผลเพื่อการเปรียบเทียบเป็นรายปัจจัย ตัวชี้วัดความสำเร็จของการวิเคราะห์นี้จะพิจารณาจากกำไรสุทธิสูงสุดที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับ ด้วยข้อมูลในเชิงลึก เจ้าหน้าที่ด้านไร่ของมิตรผลจะสามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุและปัจจัยที่มีส่วนทำให้พื้นที่นั้นมีผลผลิตอ้อยดี และให้ค่าความหวานสูง อาทิ ระบบชลประทานแบบน้ำหยด ช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตได้มากถึงอีก 5 ตันอ้อยต่อไร่เมื่อเทียบกับพื้นที่เกษตรที่อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว เป็นต้น โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 สายงานอ้อยของโรงงานมิตรภูเวียงได้ริเริ่มนำไร่อ้อยที่มีผลผลิตมากและได้คุณภาพสูงสุดมาขยายผลเป็นไร่อ้อยต้นแบบให้ชาวไร่อ้อยรายอื่นๆ ได้มีโอกาสมาศึกษาดูงานและสามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตน
เครื่องมือการเกษตร
ด้วยความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตรผู้ค้นคิดเครื่องมือ “ผานสับใบอ้อย” มิตรผลได้ถือเป็นธุระสำคัญในการเผยแพร่วิธีการเตรียมดินแบบต้นทุนต่ำให้กับชาวไร่อ้อย เนื่องจากในช่วงแรกชาวไร่ยังขาดความรู้ที่ว่าใบอ้อยสามารถนำมาเป็นปุ๋ยธรรมชาติได้ มิตรผลจึงส่งเสริมการปลูกอ้อยแบบ “ไว้ใบคลุมดิน” กล่าวคือ ในช่วงการเก็บเกี่ยวอ้อยแปลงเดิม แทนที่ชาวไร่จะเผาใบทิ้งเพื่อเตรียมแปลงปลูกอ้อยชุดใหม่ ชาวไร่สามารถใช้ผานสับใบอ้อยให้ละเอียดก่อนการไถพรวน เพื่อกลบเศษซากใบซึ่งจะย่อยสลายในดิน และกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติชั้นดีในไร่อ้อย โครงการดังกล่าวจึงถือเป็นนวัตกรรมการจัดการที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชนชาวไร่ ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยในแต่ละปีให้กับชาวไร่อ้อยจำนวนมาก
ในปี พ.ศ. 2551 มิตรผลวิจัยฯ ได้พัฒนาเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพให้กับชาวไร่อ้อยในการเก็บเกี่ยว จากข้อมูลที่บ่งชี้ว่าร้อยละ 60 ของคนตัดอ้อยเป็นเพศหญิง มิตรผลวิจัยฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลในการพัฒนาด้ามมีดจากยางสังเคราะห์ที่ถนอมมือ ลดความเหนื่อยล้า ทนทานต่อเหงื่อ และมีอายุการใช้งานที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มิตรผลวิจัยฯ ยังได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพัฒนา “มีดภูเวียง” ซึ่งมีคุณสมบัติของเนื้อวัสดุที่ยืดหยุ่น ไม่ต้องลับคมบ่อย และมีอายุการใช้งานทนทานกว่ามีดทั่วไป จึงได้รับความสนใจจากชาวไร่อ้อย โดยในปี พ.ศ. 2551 มียอดการสั่งผลิตมีดภูเวียงประมาณ 50,000 เล่มจากทุกพื้นที่โรงงานของมิตรผล แต่เนื่องจากราคาเหล็กกล้าขึ้นสูงมากในช่วงปี ผู้ผลิตจึงไม่สามารถผลิตตามยอดการสั่งได้

การกำจัดศัตรูพืช

การส่งเสริมการกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติทดแทนการใช้สารเคมี นอกจากจะเป็นการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการจัดการไร่อ้อยอีกด้วย ตัวอย่างเช่น โครงการส่งเสริมการเพาะแตนเบียนเพื่อเข้าไปทำลายหนอนกอซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจในไร่อ้อย โครงการนี้เกิดขึ้นจากองค์ความรู้ที่ได้จากศูนย์ควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมิตรผลได้นำมาพัฒนาและศึกษาวิจัยวิธีเพาะเลี้ยงที่เหมาะสมกับพื้นที่เพาะพันธุ์และแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่มาขอรับแตนเบียนโดยไม่คิดมูลค่า ในปีพ.ศ. 2551 ได้มีการปล่อยแตนเบียนในเขตส่งเสริมรอบโรงงานมิตรผลทั้ง 5 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 64,000 ไร่
การระบาดของด้วงหนวดยาวในไร่อ้อยซึ่งพบมากในเขตพื้นที่ดินทราย นับเป็นอีกปัญหาสำคัญที่มิตรผลมิได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากการระบาดของด้วงหนวดยาวที่พบเพียงส่วนหนึ่งของตอนั้นส่งผลให้อ้อยเสียหายไปทั้งตอ จากองค์ความรู้ที่ว่า “ราเขียว” สามารถกำจัดด้วงหนวดยาวได้นั้น ทำให้มิตรผลทำการทดลองหาเชื้อและพัฒนาสายพันธุ์ราเขียวที่เหมาะสมกับพื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูกในการกำจัดด้วงหนวดยาว โดยเฉพาะการค้นพบวิธีเพาะพันธุ์ราเขียวที่ง่าย มีประสิทธิภาพและไม่เกินความสามารถของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ดังนั้นภารกิจสำคัญของสายงานด้านอ้อยของมิตรผลนอกจากจะเป็นการประเมินสถานการณ์พื้นที่ระบาดแล้ว ยังต้องส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรรู้จักการเพาะราเขียวอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2551 เกษตรกรได้มีการใช้ราเขียวจากมิตรผลครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,300 ไร่ เพื่อกำจัดด้วงหนวดยาว
อีกนวัตกรรมทางการเกษตรที่โดดเด่นของมิตรผลวิจัยฯ ในการป้องกันการเกิดโรคใบขาวในพืชอ้อยคือ “ชุดตรวจโรคใบขาว” ด้วยความร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ทำให้มิตรผลวิจัยฯ สามารถพัฒนา “ชุดตรวจโรคใบขาว” ซึ่งง่ายต่อการตรวจวัดโรคใบขาวในท่อนพันธุ์อ้อย โรคดังกล่าวนี้จะแสดงอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ชาวไร่จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าใดนัก การควบคุมโรคก็เป็นไปได้อย่างลำบากเนื่องจากการเกิดโรคนี้มีแมลงเป็นพาหะนำโรค และยังไม่มีท่อนพันธุ์ที่ต้านทานโรคได้ การระบาดของโรคจะลุกลามครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้างและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล ด้วยเครื่องมือขนาดเล็กแต่มากด้วยความสามารถ ทำให้เกษตรกรสามารถตรวจหาโรคใบขาวในท่อนพันธุ์อ้อยได้ก่อนนำไปปลูกขยายพันธุ์ ซึ่งโรคใบขาวสามารถตรวจพบได้ในระยะเริ่มต้นและช่วยให้เกษตรกรป้องกันการระบาดได้ทันท่วงที ในปี พ.ศ. 2551 มิตรผลวิจัยฯ ได้ขึ้นทะเบียน “ชุดตรวจโรคใบขาว” โดยจดลิขสิทธิ์ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จากการส่งเสริมดังกล่าว มีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยให้ความสนใจนำชุดตรวจโรคใบขาวไปใช้ประโยชน์ถึง 70,000 ชุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น